วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556

เพลงพื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ( ภาคอีสาน ) นายภาคภูมิ เพ็ชรนอก รหัส 56011210046 รายวิชา การจัดการสารสนเทศยุคใหม่ในชีวิตประจำวัน กลุ่มเรียนที่ 2

เพลงพื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ( ภาคอีสาน )

ประเภทของเพลงพื้นบ้าน
          เพลงพื้นบ้านแบ่งได้หลายประเภทขึ้นอยู่กับวิธีการจัดแบ่งดังนี้
แบ่งตามเขตพื้นที่  
          เป็นการแบ่งตามสถานที่ที่ปรากฏเพลง อาจแบ่งกว้างที่สุดเป็นภาค เช่น เพลงพื้นบ้านภาคกลาง เพลงพื้นบ้านภาคเหนือ เพลงพื้นบ้านภาคอีสาน เพลงพื้นบ้านภาคใต้ หรืออาจแบ่งย่อยลงไปอีกเป็นเขตจังหวัด อำเภอ ตำบล เช่น เพลงพื้นบ้านตำบลเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เพลงพื้นบ้านของอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี  
แบ่งตามกลุ่มวัฒนธรรมของผู้เป็นเจ้าของเพลง  
          เป็นการแบ่งตามกลุ่มชนท้องถิ่นที่มีวัฒนธรรม หรือเชื้อชาติต่างกัน เช่น เพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมไทยโคราช เพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมเขมร-ส่วย เพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมไทย-ลาว เพลงพื้นบ้านกลุ่มไทยมุสลิม 
แบ่งตามโอกาสที่ร้อง  
          กลุ่มหนึ่งเป็นเพลงที่ร้องตามฤดูกาลหรือเทศกาล เช่น เพลงที่ร้องในฤดูกาลเก็บเกี่ยว ได้แก่ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงสงฟาง เพลงนา และเพลงที่ร้องในเทศกาลสงกรานต์ ได้แก่ เพลงบอก เพลงร่อยพรรษา เพลงตร๊จ อีกกลุ่มหนึ่งเป็นเพลงที่ร้องได้ทั่วไปไม่จำกัดโอกาส เช่น ซอ หมอลำ เพลงโคราช เพลงลำตัด เพลงฉ่อย เพลงอีแซว
แบ่งตามจุดประสงค์ในการร้อง  
          เช่น เพลงกล่อมเด็ก เพลงปลอบเด็ก เพลงประกอบการละเล่นของเด็ก เพลงปฏิพากย์ เพลงร้องรำพัน เพลงประกอบการละเล่นของผู้ใหญ่ และเพลงประกอบพิธีกรรม
แบ่งตามจำนวนผู้ร้อง  
          เป็นเพลงร้องเดี่ยวและเพลงร้องหมู่ เช่น เพลงกล่อมเด็ก เพลงพาดควาย จ๊อย เป็นเพลงร้องเดี่ยว ส่วนเพลงเกี่ยวข้าว เพลงเรือ เป็นเพลงร้องหมู่ นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งประเภทเพลงพื้นบ้านแบบอื่นๆ เช่น ตามความสั้นยาวของเพลง แบ่งตามเพศของผู้ร้อง แบ่งตามวัยของผู้ร้อง

เพลงพื้นบ้านภาคอีสาน
          ภาคอีสานเป็นแหล่งรวมกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกันถึง ๓ กลุ่ม จึงมีเพลงพื้นบ้านแบ่งเป็น ๓ ประเภท ดังนี้

๑.    เพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมไทย-ลาว
๒.    เพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมเขมร-ส่วย (กูย)
๓.    เพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมไทยโคราช

เพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมไทย-ลาว
          กลุ่มชนกลุ่มนี้ ได้แก่ ประชาชนในจังหวัดหนองคาย อุดรธานี เลย สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ขอนแก่น ชัยภูมิ มุกดาหาร ยโสธร อุบลราชธานี บุรีรัมย์ และบางส่วนของจังหวัดศรีสะเกษ กลุ่มชนนี้ใช้ภาษาถิ่น คือ ภาษาอีสาน เพลงพื้นบ้านของกลุ่มวัฒนธรรมไทย- ลาว มี ๒ ประเภท คือ หมอลำ และเซิ้ง
ก. หมอลำ
          หมอลำเป็นเพลงพื้นบ้านที่นิยมมากในภาคอีสาน ได้พัฒนาการแสดงเป็นคณะ มีการฝึกหัดเป็นอาชีพ รับจ้างไปแสดงในงานต่างๆ มีทำนองลำ เรียกตามภาษาถิ่นว่า
 "ลาย" ที่นิยมมีด้วยกัน ๔ ลาย คือ
๑. ลายทางเส้น    
๒. ลายทางยาว    
๓. ลายลำเพลิน
๔. ลายลำเต้ย
ตัวอย่าง  ลายลำเต้ย  ชื่อ  เต้ยโขง
    ลา ลา ก่อนเด้อ    ขอให้เธอจงมีรักใหม่
ชาตินี้ขอเป็นขวัญตา    ชาติหน้าขอเป็นขวัญใจ
ชาตินี้แลชาติใด    ขอให้ได้เคียงคู่กับเธอ


คณะหมอลำ ที่ร้องเล่นหมอลำ โดยใช้ภาษาถิ่นอีสาน

ข. เซิ้ง หรือลำเซิ้ง   
          คำว่า "เซิ้ง" หมายถึง การฟ้อนรำ เช่น เซิ้งกระติบ หรือทำนองเพลงชนิดหนึ่ง เรียก ลำเซิ้ง เซิ้งทั่วไปมี ๓ แบบ คือ เซิ้งบั้งไฟ เซิ้งเต้านางแมว และเซิ้งเต้านางด้ง การเซิ้งนี้มักจะเป็นกลุ่มย่อยๆ ตั้งกระบวนแห่ไปขอปัจจัย เพื่อร่วมทำบุญงานวัด
ตัวอย่าง  เซิ้งหลักธรรม (ตัดความมาบางตอน)

    องค์พุทโธเพิ้นว่าจังซี้    ไผขี้ถี่เกิดเป็นปลาหลด
เกิดมาอด  กินหยังบ่ได้    ของใหญ่ๆ แม่นบ่ได้กิน
พระมุนินทร์เพิ้นว่าชั้นดอก    ข้อยสิบอกให้เจ้ารู้คลอง
รู้ทำนองทรัพย์สินภายนอก    เพิ่นนั้นบอกให้กินให้ทาน
สร้างสะพานผลาไปหน้า    ขึ้นชั้นฟ้าสวรรค์นิพพาน



การฟ้อนรำเซิ้งกระติบ

เพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมเขมร-ส่วย (กูย)
          เป็นกลุ่มประชาชนในจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ และบางส่วนของจังหวัดบุรีรัมย์ มีภาษาของตนเอง คือ ภาษาเขมร และภาษาส่วย(กูย) ซึ่งต่างไปจากภาษาถิ่นอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีวัฒนธรรมเฉพาะถิ่น โดยเฉพาะเพลงพื้นบ้านที่เรียกว่า"เจรียง" ซึ่งแปลว่า ร้อง หรือขับลำ


การร้องเล่นเจรียงซันตูจ ซึ่งเป็นเพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมเขมร-ส่วย (กูย)

การเล่นเจรียงนั้น มีทั้งที่จัดเป็นคณะ และเล่นกันเองตามเทศกาล เป็น ๒ ลักษณะ ได้แก่
๑. เจรียงในวงกันตรึมวง ซึ่งเป็นวงดนตรีประกอบด้วย ปี่ออ ปี่ชลัย กลอง กันตรึม ฉิ่ง ฉาบ กรับ ปัจจุบันมีซออู้ และซอด้วงด้วย เมื่อเจ้าภาพจัดหาวงกันตรึมมาเล่น ก็จะมีการร้องเพลง คือ เจรียงประกอบวงกันตรึม เนื้อร้องจะเลือกให้เข้ากับงานบุญกุศลนั้นๆ หรือตามที่ผู้ฟังขอมา
๒. เจรียงเป็นตัวหลัก ในวันเทศกาล ชาวบ้านที่มีอารมณ์ศิลปินจะจับกลุ่มร้องเจรียงที่จำสืบทอดกันมา ผลัดกันร้อง และรำฟ้อนด้วย เช่น เจรียงตรุษ เจรียงนอรแกว (เพลงร้องโต้ตอบระหว่างชาย-หญิง)
ตัวอย่าง เจรียงซันตูจ (เพลงตกเบ็ด)

    ปกัวร์เลือนกันโดะ        (ฟ้าลั่นสั่นสะเทือน)
บองจัญเรียบ มจ๊ะเสราะ        (พี่ขอแจ้งเจ้าของบ้าน)
บองโซมลีงซันตูจโกน  กระโมม    (พี่ขอเล่นตกเบ็ดกับลูกสาว)
ลิ่งเตียง  เนียงตูจ            (เล่นทั้งน้องนางคนเล็ก)
รโฮด  ดอลเนียงธม        (ตลอดถึงน้องนางคนโต)
โซมลีง  ซันตูจโกน  กระโมม    (ขอเล่นตกเบ็ดกับลูกสาว)
ตามจ๊ะโบราณ            (ตามคนแก่โบราณ)

เพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมไทยโคราช
          กลุ่มชนวัฒนธรรมไทยโคราช ได้แก่ ประชาชนในจังหวัดนครราชสีมา และบางส่วนของจังหวัดบุรีรัมย์ เพลงพื้นบ้านของชนกลุ่มนี้ คือ เพลงโคราช ปัจจุบันพัฒนาจากเพลงพื้นบ้านมาเป็นคณะหรือเป็นวง มีการฝึกหัดเป็นอาชีพ รับจ้างแสดงในงานบุญ งานมงคล งานแก้บนท้าวสุรนารี เนื้อร้องโต้ตอบระหว่างชาย-หญิง กลอนเพลงมีหลายแบบ เช่น เพลงคู่สอง เพลงคู่สี่ ใช้ปรบมือตอนจะลงเพลงแล้วร้อง 
"ไช ยะ"



การร้องเล่นเพลงโคราชที่มีเนื้อร้องโต้ตอบกันระหว่างชายและหญิง

ตัวอย่าง เพลงโคราช
เห็นต้นระกำ    คราวนี้จะช้ำเอยต้นกู    ไม่เห็นแม่ดวง    พี่ก็จะดูแต่ต้นระกำ
เอยกะต้นเกด    เกดเอยเคยสังเกต    นั่งเช็ดน้ำตา    มองเห็นกกไม้พี่ก็มอง
ดูแต่กายเอยแค่เกล็ด    กกไม้ทำไมยังมี    ตาเกดตากัน    เกดเอ๋ยแม่เกด
จะแล้งแล้วแม่โฉมตรู  นึกเห็นแต่ก่อนเรา    เคยกอดเชิดชู...กัน




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น